หากกล่าวถึง นางนพมาศ เชื่อกันว่าคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะถือได้ว่าเป็นสิ่งที่คู่กันกับเทศกาลวันลอยกระทงอันเป็นประเพณีของชาวไทย ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่านางนพมาศนั้นเป็นใคร จึงต้องมีการพูดถึงกันตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ตำนานนางนพมาศ
เชื่อกันว่า นางนพมาศ เกิดในสมัยรัชกาลพระยาเลอไท แห่งราชวงศ์พระร่วง ในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เป็นธิดาของพระศรีมโหสถ ผู้เป็นพราหมณ์ปุโรหิต กับนางเรวดี นางนพมาศนั้น เป็นหญิงที่รูปร่างหน้างดงาม มีความรู้ทั้งในด้านอักษรศาสตร์ พุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ การช่างของสตรี และการขับร้องดนตรี เนื่องจากได้รับการอบรมสั่งสอนจากบิดามาเป็นอย่างดียิ่ง ทำให้นางนพมาศนั้นเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด และถ่อมตนถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติอันดีงามทุกประการ สันนิษฐาว่า ได้ถวายตัวเข้ารับราชการในสมัยพระยาลิไท และได้เป็นสนมเอก ตำแหน่ง ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ และได้รับสมญาว่า กวีหญิงคนแรกของไทย และนางเป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นมา นางนพมาศ จึงถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีลอยกระทง ต่อมาเมื่อถึงเทศกาลลอยกระทงก็มีการประกวดนางนพมาศสืบเนื่องมาจนถึงบัจจุบันนั่นเอง

ความเป็นมาของนางนพมาศกับวันลอยกระทง
นางนพมาศมีความเกี่ยวข้องกับวันลอยกระทงโดยมีพงศาวดารบันทึกไว้ว่า นางนพมาศนั้นได้สร้างคุณงามความดีเป็นที่โปรดปรานของพระร่วงอยู่เสมอ โดยมี 3 เหตุการณ์สำคัญ คือ
1.หลังเข้ารับใช้ในวังได้ 5 วัน ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป นางนพมาศได้ประดิษฐ์โคมเป็นรูปบัวกมุทบาน และนำไปถวายพระร่วงเจ้า พระองค์ทรงโปรดปรานเป็นอย่างมาก
2. ทุกเดือนห้าจะมีพิธีชุมนุมข้าราชการ ในพิธีนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงรับแขกด้วยเครื่องหมากพลู นางนพมาศได้ประดิษฐ์พานหมากสองชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้ ทำให้พระร่วงทรงโปรดปรานและรับสั่งว่า “ต่อไปผู้ใดจะทำการมงคลก็ดี รับแขกก็ดี ให้ใช้พานหมากรูปดังนางนพมาศประดิษฐ์ขึ้น” จนกลายเป็นต้นแบบของพานขันหมากแต่งงาน จนถึงปัจจุบัน
3. นางนพมาศได้ประดิษฐ์พนมดอกไม้ ถวายพระร่วงเจ้า เพื่อบูชาพระรัตนตรัย พระร่วงทรงพอพระทัย และตรัสว่า “แต่นี้ต่อไปเวลามีพิธีเข้าพรรษาจะต้องบูชาด้วยพนมดอกไม้กอบัวนี้”

ข้อความที่ที่มีการเขียนบันทึกไว้เกี่ยวกับนางนพมาศ
มีใจความดังนี้ “ทั้งเป็นสตรี สติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุ กำลังจะรักรูปและแต่งกาย ซึ่งอุตสาหะพากเพียร กล่าวเป็นทำเนียบไว้ ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้สตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศ กระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงมหานครสุโขทัย ตั้งจิตคิดสิ่งซึ่งเป็นการควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฏชื่อเสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน”
ความเชื่อว่านางนพมาศเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้น
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, นิธิ เอียวศรีวงศ์ และสุจิตต์ วงษ์เทศ เห็นว่าเรื่องนางนพมาศนั้นเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น
ไม่ว่าเรื่องราวของนางนพมาศจะมีจริงหรือไม่ก็มิอาจจะรู้ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรรักษาไว้ คือ การระลึกถึงประเพณีอันดีงามที่คนไทยสมัยโบราณที่ปลูกฝังกันมา เพื่อให้ลูกหลานช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดขชองสรรพสิ่งต่างๆมากมายนั่นเอง